ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เกิดอะไรขึ้นเมื่อสาวๆ ไปดำน้ำครั้งแรก !!!!! ...และพวกเธอได้อะไรจากทริปนี้...

“ในความคิดหนูนะ  หนูว่าคนไทยชอบอะไรที่ถูก  สบาย  ไม่ยุ่งยาก  อย่างหนูขายทัวร์เที่ยวอย่างเนี๊ยะ ถ้าราคา 1,999 บาท เขาจะโอเค  แต่ถ้าราคาเริ่มไปที่เลข 2 ไม่ว่าจะ 2,100 บาท  เขาก็จะเริ่มคิดว่าแพงกันแระ.........แล้วอีกอย่างคนไทยมีวันหยุดน้อย  ไม่เหมือนกับชาวต่างชาติที่เขามีวันหยุดยาวๆ คนไทยก็เลยชอบอะไรที่ง่ายๆ สบายๆ”
………………………………….

นี่เป็นบทสนทนาบนเรือเฟอร์รี่เพื่อข้ามไปเกาะช้างระหว่างผู้เขียนกับน้องจอย – กนกพร  เหมะพันธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ชั้นปีที่ 4  กับ “โครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ  คนไทยทำได้” 

การมาเรียนดำน้ำครั้งนี้ถือเป็นการดำน้ำครั้งแรกของสาวๆ ทั้ง 6 คน ที่มีคาแรกเตอร์ต่อเรื่องดำน้ำแตกต่างกันอย่างชัดเจน  ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นประโยชน์หากจะเล่าให้อ่านกันสักเล็กน้อย

น้องจอย น้องเอ้ และ น้องรัตน์ – ว่ายน้ำเป็น  แต่จะพิเศษที่น้องจอยคือแพ้น้ำทะเลที่สกปรก  ถ้าโดนเมื่อไรผื่นแดงขึ้นทุกที 

น้องกลาง – คนนี้บ้านเกิดอยู่พังงา  ติดทะเล  แต่ไม่เคยดำน้ำ

น้องยุ้ยและน้องบี –   ว่ายน้ำไม่เป็น  แต่ก็มาร่วมเรียนดำน้ำด้วยกันในครั้งนี้

IMG 2827 1

อะไรจะเกิดขึ้นกับสาวๆ ทั้ง 6 คน ที่มาเรียนดำน้ำด้วยกันเป็น....ครั้งแรก !!!

ครู Sacha นัดหมายการเริ่มเรียนดำน้ำ 8 โมงเช้า โดยมีบอม , ใหม่ (นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่เดือนนี้เรียนถึงหลักสูตร Dive master  แล้ว) ลงมาเตรียมอุปกรณ์ดำน้ำให้เพื่อนๆ พร้อมแล้วตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง

เป้ง !!!! เวลา 8.00 น. ผู้เขียนเห็นแก็งค์สาวๆ มากินอาหารเช้าที่ Amari กันแต่เช้าแล้ว  แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายที่สระว่ายน้ำ 
อ้าว......หายไปไหนกันหมด !!!!!

ผู้เขียนโทรตาม  “จอยอยู่ไหนกันแล้ว” 

เสียงจอยจากปลายสายตอบว่า  “อยู่บนห้องคะ  เพื่อนๆ ไม่มั่นใจในรูปร่าง”

ผู้เขียน “…………”  มีอาการงงเล็กน้อย หยุดคิดก่อนจะตอบกลับไปเพื่อสร้างความมั่นใจกับสาวๆให้ได้มากที่สุด  โดยตอบกลับไปว่า “ไม่เป็นไร  ยังไงก็ต้องใส่ชุด wet suit กันอยู่แล้ว”  (คิดอยู่ในใจว่าประโยคนี้จะทำให้ทุกคนมั่นใจขึ้นได้ไหม !!!)

เสียงน้องจอย  “คะๆ เดี๋ยวลงไปเดี๋ยวนี้คะ”
..................................................

และทุกคนก็ปรากฏตัว  ในอาการที่ไม่พร้อมทักทายใคร และไม่พร้อมให้ใครมาทักทาย 

ครู Sacha  เริ่มต้นด้วยการแจกชุด wet suit ให้ทุกคนไปใส่ก่อน  น้องๆ รีบนำชุดที่พอดีกับตัวเอง  เดินตรงรี่เข้าห้องน้ำพร้อมกันอย่างรวดเร็ว
............................................

เงียบหายไปหลายนาที  ผู้เขียนเริ่มมีอาการตงิดๆ  เล็กน้อย  ขอเข้าไปดูแก็งค์สาวๆ สักหน่อย  เมื่อเปิดประตูเข้าไปเท่านั้น  !!!!  เสียงพวกเธอดังลั่นกันอยู่ในห้องน้ำพร้อมด้วยความโกลาหล  กับ ชุด  wet suit

“ใส่แบบใช่ป่าวอ่ะ”  “ถูกด้านแล้วป่าว”  “แบบนี้ใช่หรือเปล่าพี่เจน” ............. สารพัดคำถามเกี่ยวกับ  wet suit
และในที่สุดแก็งค์สาวๆ ก็ได้ก้าวออกมาจากห้องน้ำ  พร้อมกับการใส่ชุด  wet suit ที่ถูกทาง

ใช่ !!!!  พวกเธอพร้อมเรียนดำน้ำกันแล้ว
เยยยยยยยยยยยยยยยยยย้  !!!! 

เริ่มต้นเรียนดำน้ำที่สระว่ายน้ำทุกคนดูมีอาการตื่นๆ กันนิดหน่อย  โดยเฉพาะน้องกลางที่ดูจะกลัวมากกว่าเพื่อน 
students 021

เตรียมใส่อุปกรณ์ก่อนลงสระให้เรียบร้อย
students 031

ยุ้ยและบี  สาวๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็น  แต่พอได้เรียนดำน้ำแล้ว  ดำแทบไม่หยุด
students 042

IMG 2767

ยุ้ย ลอยตัวโชว์คะ
students 064

ดูแลกันแบบตัวต่อตัว
IMG 2800

หน้ากากมองเห็นกันไม่จ๊ะเพื่อน  แบบนี้ต้องใช้ซันไลน์  (นักดำน้ำรู้จักกันดี สามารถใช้น้ำลายของเราก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดฝ้าที่หน้ากาก)
IMG 2808

พร้อมแล้วลงทำแบบฝึกหัดใต้น้ำได้เลย
IMG 2802

คนข้างหลัง...สู้ตายคะ
IMG 2807

พร้อมแล้วเพื่อจะดำน้ำจริงที่ทะเล  น้ำทะเลเกาะช้างใสมากกกกกกกกก  มองเห็นตัวปลา
IMG 2828

เตรียมพร้อมอุปกรณ์กันอีกครั้ง โดยมี ใหม่ (ณเดชน์) และ บอม (ปริญ) คอยช่วยเหลืออยู่เสมอ
IMG 2834

IMG 2857

ญาญ่าเตรียมพร้อมไปดำน้ำ
IMG 2842

หลังจากนั่นทุกคนก็ไปดำน้ำ

เสียดายที่ไม่มีกล้องถ่ายรูปใต้น้ำบันทึกภาพมาให้ดู 

แต่เรื่องแบบนี้ต้องดูด้วย "สายตาของตัวเอง"

แล้วจะรู้ว่าโลกใต้น้ำมันสวยล้นเหลือขนาดไหน


กลับมาจากดำน้ำ  พี่หลง  กัปตันเรือของเรา  ดำน้ำลงไปหยิบเจ้าตัวนี้มาให้ดู  (ลืมชื่อเจ้าตัวนี้)
IMG 2883

และทุกคนก็ผ่านการเรียนดำน้ำหลักสูตร Discover scuba diving  ไปได้ด้วยดี  ขอแสดงความยินดีด้วยอย่างยิ่ง
IMG 2905

บทสนทนาข้างต้นที่น้องจอยบอกไว้  เพราะผู้เขียนได้ถามไปว่า  
“จอยคิดว่าทำไมคนไทยเรียนดำน้ำกันน้อยจัง” 

น้องจอยเธอเลยแสดงความคิดว่า  
“ในความคิดหนูนะ  หนูว่าคนไทยชอบอะไรที่ถูก  สบาย  ไม่ยุ่งยาก  อย่างหนูขายทัวร์อย่างเนี๊ยะ ถ้าราคา 1,999 บาท เขาจะโอเค  แต่ถ้าราคาเริ่มไปที่เลข 2 ไม่ว่าจะ 2,100 บาท  เขาก็จะเริ่มคิดว่าแพงกันแระ.........แล้วอีกอย่างคนไทยมีวันหยุดน้อย  ไม่เหมือนกับชาวต่างชาติที่เขามีวันหยุดยาวๆ คนไทยก็เลยชอบอะไรที่สบายๆ ง่ายๆ”

ใช่แล้ว !!!  การดำน้ำเป็นคอร์สราคาสูง  การดำน้ำต้องเรียนเพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์ได้  มันใช่อย่างที่น้องจอยว่านั่นแหละ  แล้วอย่างนี้เราจะเรียนดำน้ำกันทำไม  ถ้าเราไม่ได้อะไร !!??

.......แล้วการเรียนดำน้ำครั้งนี้น้องๆ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครทั้ง 6 คน ได้อะไรกันบ้าง…….

ผู้เขียนขอนำเสนอผ่านแบบสอบถามที่ได้ให้ไป  ในส่วนที่ 4 ข้อความคิดเห็น  มาเผยแพร่ให้ทุกคนได้เห็นทัศนะคติของนักศึกษาด้วยกัน  คำถามคือ

4.1  หลังจากเข้าร่วมโครงการ  ท่านคิดว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่มหาวิทยาลัยจะมีการเรียนเพื่อส่งเสริมความรู้ทางอาชีพในอุตสาหกรรมดำน้ำ

       มีความจำเป็น  
เหตุผลสรุปได้ดังนี้
(1)     เพราะว่าสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้  ให้ประสบการณ์ใหม่ๆกับนักศึกษา
(2)     เพราะมีคนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าเกี่ยวกับอาชีพในธุรกิจดำน้ำ  และยังไม่มีพื้นฐานด้านการดำน้ำ  ดังนั้นการ บรรจุไว้การเรียนจะทำให้คนไทยรู้จักอาชีพนี้มากขึ้น
(3)     เพราะการดำน้ำเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้มาก  จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่นักศึกษาสาขาการท่องเที่ยว และ สาขาอื่นๆ ต้องเรียนรู้
(4)     อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้กับวิถีชีวิตใต้ท้องทะเล 

       ไม่มีความจำเป็น....................ไม่มีผู้ตอบ

       มีหรือไม่มีก็ได้  ......................ไม่มีผู้ตอบ

แบบสอบถามดังกล่าว  อาจเป็นการแสดงความคิดเห็นของจำนวนคนที่ไม่มาก   แต่มันก็สะท้อนแล้วว่า การมองเห็นความสำคัญของเรื่องดำน้ำจะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาได้เริ่มต้นเรียนดำน้ำด้วยตัวเอง

ดังนั้น
ไปดำน้ำกันเถอะ !!!!
IMG 2827


วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ด.ช. Sacha กับการดำน้ำครั้งแรกในชีวิต



กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว......

ด.ช. Sacha Ulmer วัย 10 ขวบ ณ โรงเรียนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เขาเป็นเด็กนักเรียนที่ใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ตามแบบของเด็กนักเรียนในวัยเดียวกัน  และแล้วเหตุการณ์หนึ่งก็เข้ามา 

.....ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตของเขาจนถึงวันนี้.....  

ที่โรงเรียนมีการประกวดวาดภาพ และรางวัลของผู้ชนะเลิศ คือ “หลักสูตรการเรียนดำน้ำ” 

ด.ช. Sacha ไม่รู้ว่าตัวเอง “อยากได้” รางวัลนั้นหรือไม่  แต่สิ่งที่เขารู้คือ....เขาอยากวาดภาพนั้นให้สวยที่สุด...และผลปรากฏว่า ด.ช. Sacha ได้รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง 

.....การหายใจใต้น้ำครั้งแรกในชีวิต...ได้เริ่มต้นขึ้น....

เขาเริ่มต้นเรียนดำน้ำที่ทะเลสาบประเทศสวิสเซอร์แลนด์  มันเป็นประสบการณ์ที่ต่อยอดชีวิตของเขา  ทำให้เขาอยากเรียนดำน้ำต่อไปเรื่อยๆ....ต่อไปเรื่อยๆ  .....ต่อไปเรื่อยๆ  

ด.ช. Sacha ชอบ “วาดรูป”  มันเหมือนกับที่เขาชอบ “วาดชีวิตตัวเอง”

เขาเติบโตขึ้นเป็นนาย Sacha Ulmer เขา "วาดชีวิต" ไว้ว่าเขาต้องการอยู่ในประเทศที่เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข....เขา “ใช้อาชีพนักดำน้ำ” เดินทางไปทั่วโลกเพื่อหาประเทศที่เขาต้องการอยู่....เขา ”ใช้อาชีพนักดำน้ำ” ทำงานสร้างเงินเพื่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างพอเพียง

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผ่านไป 35 ปี (พ.ศ.2556) เขาดำน้ำมาแล้วกว่า 8,000 ครั้ง เป็นครูสอนดำน้ำระดับ PADI Master Instructor (ถ้าเปรียบเทียบ คือ ดร.เรื่องดำน้ำ), เป็นเจ้าของธุรกิจดำน้ำ Dolphin Divers ที่เกาะช้าง จ.ตราด และเขาก็ค้นพบประเทศที่เขาต้องการอยู่  และอยู่ได้ด้วยความสุข....นั่นคือ....Thailand , ประเทศไทย

นาย Sacha ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยมากว่า 13 ปี (เริ่ม พ.ศ. 2543) เขามีรายได้ที่สามารถพึ่งพาตัวเองโดยไม่ต้องเป็นหนี้ธนาคาร.....เขา “วาดชีวิต” ให้มีความสุขในแบบที่เขาต้องการ

เพียงเพราะจุดเริ่มต้น....จากการ "ดำน้ำที่ทะเลสาบ" เมื่อตอนอายุ 10 ขวบ

นิทานเรื่องนี้ไม่สอนให้รู้ว่าอะไร....แต่เราเรียนรู้ทัศนคติอะไรที่ซ้อนอยู่ในเหตุการณ์นี้ได้บ้าง
สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นได้อย่างชัดเจน  คือ  

1.คนทุกวัยในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ “ก้าวผ่าน” ความกลัวเรื่องดำน้ำอย่างหมดจด  กล่าวคือ
 
ครู – ที่โรงเรียน....ตั้งรางวัลการเรียนดำน้ำไว้เป็นรางวัลที่หนึ่ง  นั่นหมายความว่า  “ครู” ไม่มีทัศนคติว่าการดำน้ำเป็นเรื่องอันตรายสำหรับเด็ก  แต่ “ครู” มองว่าการดำน้ำจะเพิ่มประสบการณ์และทักษะให้กับเด็ก ไม่อย่างนั้น “ครู” คงไม่ตั้งรางวัลชนะเลิศเป็น “หลักสูตรเรียนดำน้ำ”!!!!

                พ่อแม่ , ผู้ปกครอง – ที่บ้าน....มีทัศนคติเช่นเดียวกันกับครู   ไม่เช่นนั่นพ่อแม่ของ ด.ช. Sacha คงไม่ปล่อยให้ลูกตัวเองวัย 10 ขวบ ไปดำน้ำแน่นอน !!!

                เด็กนักเรียน – ไม่มองว่าการดำน้ำเป็นเรื่องอันตราย  แต่มองว่าการดำน้ำเป็นเรื่องสนุกที่อยากทำ  ไม่เช่นนั้นคงไม่มีนักเรียนคนใดอยากวาดรูปให้สวย  เพื่อให้ได้รางวัลชนะเลิศ !!!

                !!!! สิ่งที่เรียนรู้ได้ข้อต่อไป !!!!!

2. ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นเป็นแหล่งดำน้ำ
 
เราติดภาพที่ว่าการดำน้ำต้องเป็นที่ทะเลเท่านั้น  แต่การดำน้ำสามารถไปที่น้ำจืดได้ด้วย !!!
 
แหล่งน้ำทั่วโลกมีสภาพแวดล้อม , สิ่งมีชีวิต ฯลฯ ที่แตกต่างกันออกไป  เราสามารถไปดำน้ำได้ที่ทะเลสาบบนพื้น , ทะเลสาบบนภูเขา , ขั้วโลกเหนือ , ขั้วโลกใต้ , ทะเล , มหาสมุทร , ทุกที่ที่มีน้ำ (ถ้านึกถึงคลองบำบัดน้ำเสียก็ระวังอาการผดผื่นคันอาจตามมา)

                อาเซียนกำลังใกล้เข้ามา เมื่อ 10 ประเทศรวมตัวกัน  เราจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ : ขาดๆเกินๆอุตสาหกรรมดำน้ำไทย) จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนประเทศอินโดนีเซีย , ฟิลิปปินส์ ที่พูดภาษาอังกฤษได้ และดำน้ำเป็น  เข้ามาหางานเกี่ยวกับดำน้ำในประเทศไทย  หากเราส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำน้ำ  คนไทยต้องเสียโอกาสทางอาชีพไปมากเท่าไหร่....ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน

3. ความฝัน  กับ เครื่องมือในการประกอบอาชีพ มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่วแน่
  
                อาชีพ.....กำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตได้ถึง 80%  !!!!

ครู Sacha เคยทำงานอยู่ในออฟฟิศหน้าคอมพิวเตอร์กับเขาเหมือนกันนะ  ทำได้สองปีก็ลาออก  เพราะมันไม่ใช่ชีวิตในแบบที่เขาต้องการ  เขากลับมาทบทวนความต้องการในชีวิตใหม่อีกครั้ง  โดยที่ไม่นำคำพูดของคนอื่นมาครอบงำความคิดตัวเอง  

ใช่แล้ว !!! เขามีฝันอยากมีชีวิตอิสระ ไม่ทำงานติดแหงกอยู่บนโต๊ะ ได้อยู่ในประเทศที่เขาอยู่แล้วมีความสุข  .... เขาจึงกลับมา "ใช้" อาชีพ “นักดำน้ำ” เป็น "เครื่องมือ" นำพาความฝันของเขาให้บรรลุผลอีกครั้ง

ลองถามตัวเองดูว่า...วิถีชีวิตแบบไหนที่เป็นความฝันของเรา....และอาชีพที่เราทำอยู่นั่นมันตอบฝันเราได้หรือไม่....มากหรือน้อย....อย่างไร  

.....ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยนมันซะ เชื่อซิว่าโลกนี้ไม่ยอมให้เราอดตายหรอก !!!!

                !!!! สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้ได้ข้อสุดท้าย !!!!!

4.ทำให้นิทานสักเรื่อง  มี “ตัวเอก” เป็น “ตัวเรา” 
             
                 แล้วเอากลับมาเล่าให้ใครต่อใครฟัง  เชื่อซิว่านิทานเรื่องนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่สนุกมากอย่างแน่นอน....ทำให้นึกถึงคำพูดหนึ่งที่บอกว่า.....

“ชีวิตไม่ใช่การค้นหาตัวตนของเราเอง....แต่มันคือการสร้างตัวตนของเราเองขึ้นมาต่างหาก”
Life isn't about finding yourself….Life is about creating yourself.


.....สวัสดี.....


วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

..........................ขาดๆ เกินๆ อุตสาหกรรมดำน้ำไทย.........



หมายเหตุ : บทความนี้ยาว...แต่ดี !!!

 อะไรที่มันขาด  ต้องหาสิ่งมาเติม  

อะไรที่มันเกิน  ต้องตัดทอนออกไป   

“ความพอดี” มันจะเกิดขึ้นได้ต้อง "ปรับแต่ง" กันหน่อย   เหมือนกับอุตสาหกรรมดำน้ำบ้านเราส่วนแบ่งการตลาด 4,000 – 5,000 ล้านบาท เป็นของชาวต่างชาติถึง 95%  มัน “เกินความพอดี” มาก  ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเข้าไป "ปรับแต่ง" ให้มัน “เกิดความพอดี”  

อะไรบ้างที่ขาด ???? 
          
ขาดความรู้  :  เราขาดความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมดำน้ำ !!!

                “ความรู้”  เป็นกุญแจสำคัญเพื่อเปิดโอกาสทางอาชีพได้เสมอ   ความรู้เป็นอะไรก็ได้ที่เราเชี่ยวชาญกับมันจริงๆ    

นายชัยพร  พรหมพันธุ์  เจ้าของสมญานาม “ชาวนาเงินล้าน”  จบชั้น ป.6 แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี   สร้างกำไรปีละหลักล้านจากการทำนา  สามารถลบคำกล่าวที่ว่า "ทำนามีแต่จน" ได้สำเร็จ 

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นที่รู้จักกันดีจากการเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง นักมีนวิทยา นักเขียน  เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ทะเลไทย และเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ตอน ทะเลไทย ของรายการแฟนพันธุ์แท้ ในปี พ.ศ. 2546 

เห็นไหมว่าความรู้ที่มีจนเป็นความเชี่ยวชาญ  “เกิดขึ้นได้ที่ตัวบุคคล”  ไม่เกี่ยวข้องว่าจะจบการศึกษาระดับใด  

แล้วกับเรื่องดำน้ำหล่ะ !!!  นั่นก็หมายความว่า  คนไทยมีความรู้เรื่องการดำน้ำกันน้อยมากจริงๆ  น้อยถึงขนาดปล่อยให้ส่วนแบ่งการตลาดเป็นของชาวต่างชาติได้ถึง 95%   โดยที่เราไม่รู้สึกว่าอยากจะเอากลับคืนมาด้วยซ้ำ  แล้วอะไรหล่ะที่ทำให้เราปล่อยมันให้ดำเนินมาจนถึงวันนี้  

อะไรที่ว่านั้นขอเรียกมันว่า “ตัวปิดกั้นการเรียนรู้”   อันได้แก่   ค่าดำน้ำแพง , ความกลัวต่างๆ ,  กลัวว่าว่ายน้ำไม่แล้วจะดำน้ำไม่ได้ (ยืนยันว่าว่ายน้ำไม่เป็นก็เรียนดำน้ำได้  สอบถามเพิ่มเติมกับครูสอนดำน้ำ)  หรือแม้แต่ทัศนคติที่ว่าการดำน้ำเป็นกิจกรรมของฝรั่ง

อะไรบ้างที่ขาด ????

ขาดการโฟกัส :  ระบบการเรียนไม่โฟกัสอาชีพในอุตสาหกรรมดำน้ำ !!! 

                 “ดำน้ำ” มีการฝึกสอนอยู่แล้วในคณะประมง  เพราะอาชีพดังกล่าวต้องลงไปศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ   แต่อาชีพที่เกี่ยวกับ “อุตสาหกรรมดำน้ำ” โดยตรง  เช่น  นักดำน้ำมืออาชีพ (professional divers) ,  สถาบันสอนดำน้ำ , บริษัทนำเที่ยวเพื่อการดำน้ำ , ธุรกิจเรือเช่าเพื่อการดำน้ำ Live-aboard  เป็นต้นเหล่านี้  มีเรียนในมหาวิทยาลัยบ้างหรือไม่  

คำตอบ คือ มี 

มีในรายวิชาของคณะและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว  เช่น  วิชาการจัดการการท่องเที่ยวทางทะเล  ,  การท่องเที่ยวทางน้ำ  , การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  เป็นต้น  แต่จากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับอาจารย์หลายท่านในหลายมหาวิทยาลัย  เหตุผลที่รายวิชาเหล่านั้นไม่ได้รับการโฟกัสเพราะหาครูสอนไม่ได้  หรือ  เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ใกล้ทะเล  แต่คำกล่าวเหล่านี้คงจะไม่สามารถปล่อยไปได้อีกแล้ว  เพราะการรวมตัวกันของ 10 ประเทศในอาเซียน  ทำให้พวกเราอยู่ในพื้นที่ที่กลายเป็น "แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก" เลยทีเดียว

สมาชิกในประชาคมอาเซียนทั้งหมด 10 ชาติ ยกเว้นลาว  มีชายฝั่งติดทะเลคิดเป็นระยะทางรวมกันประมาณ 110,000 กิโลเมตร ยาวกว่าเส้นรอบวงโลกเกือบ3 เท่า (เส้นรอบวงโลกประมาณ 40,000 กิโลเมตร) ชายฝั่งที่ยาวไกลขนาดนี้ เป็นที่ตั้งของเกาะแก่งจำนวนมหาศาล บางประเทศในเขตอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ถือเป็นประเทศที่เป็นเกาะ (Island Country) เมื่อนับจำนวนเกาะของทั้งภูมิภาครวมกัน คิดเป็นตัวเลขมากกว่า 30,000 เกาะ มากกว่าจำนวนเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย  แค่ประเทศไทยบ้านเราก็รวมกันเกือบ 1,000 เกาะแล้ว  

                แล้วอย่างนี้เราจะไม่โฟกัส “อาชีพในอุตสาหกรรมดำน้ำ” ให้มีเรียนในมหาวิทยาลัยได้อีกหรือ...

อะไรบ้างที่เกิน ????

ชาวต่างชาติมีส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมดำน้ำประเทศไทยมากเกินไป !!!

                รู้หรือไม่ว่า...หากจะต้องจ้างชาวต่างชาติเพื่อมีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย 1 คน  บริษัทจะต้องมีทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท และต้องมีพนักงานคนไทยอยู่ในบริษัทจำนวน 4 คน 

                หมายความว่าถ้าศูนย์ดำน้ำต้องการนักดำน้ำมืออาชีพ 5 คน ทำงานในบริษัทอย่างถูกกฎหมาย จะต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัท 10,000,0000 บาท  และมีพนักงานคนไทยอยู่ในบริษัทจำนวน 20 คน !!!

                จะเห็นได้ว่า "ข้อกำหนด" ไม่ได้เอื้อความสะดวกมากพอให้กับเจ้าของบริษัทที่ต้องการทำถูกกฎหมายสักเท่าไหร่ 

             และคนไทยที่ต้องการเป็น "นักดำน้ำมืออาชีพ" ก็มีจำนวนน้อยมากซะเหลือเกิน  
     
                 ในเมื่อหาคนไทยมาทำงานไม่ได้  ดังนั้นบางบริษัท (ต้องขอย้ำว่าบางบริษัทเท่านั้น) เลยต้องจ้างชาวต่างชาติมาทำงานแทน  แต่ถ้าจะจ้างชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานได้อย่างถูกกฎหมายมัน "จ่าย" แพงซะเหลือเกิน  เขาเลยจ้างชาวต่างชาติในรูปแบบของนักท่องเที่ยวนี่แหละ  ถ้ามีตำรวจมาเจอก็บอกว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเรียนดำน้ำ !!!

                เมื่อทำงานเสร็จเจ้าของบริษัทจ่ายเงินให้กับชาวต่างชาติที่มาำทำงาน   แน่นอนว่าชาวต่างชาติกลุ่มนั้นย่อมนำเงินกลับไปใช้ในประเทศของตน  หรือหากใช้เงินในประเทศไทย  ยกตัวอย่างว่าถ้าพวกเขาบางคนไม่เข้าร้านของคนไทย  แต่เข้าร้านของคนยุโรปแทน เิงินก็ไม่ได้เข้าไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก

                 ถ้ามองในวงจรนี้เงินไทยย่อมมีแต่ไหลออก !!!

                บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อบอกว่า....ชาวต่างชาติออกไปจากประเทศไทยของเรานะ....แต่สิ่งที่อยากบอกคือ "อาชีพในอุตสาหกรรมดำน้ำ"  ต้องเป็นของคนไทยก่อนอันดับแรก  เหมือนเช่นประเทศมาเลเซีย , ฟิลิปปินส์ , อินโดนีเซีย และมัลดีฟ รัฐบาลได้ออกกฏหมายปกป้องให้อาชีพ Dive master เป็นอาชีพของคนในประเทศเท่านั้น  ส่วนอาชีพครูสอนดำน้ำ (Instructor) จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาเฉพาะที่หลากหลาย  เช่น  ภาษาฝรั่งเศส , รัสเซีย , อิตาลี , สวีเดน เป็นต้น จึงสามารถจ้างชาวต่างชาติได้

                ความแตกต่างของการจัดการแบบนี้คือศูนย์ดำน้ำต้องการชาวต่างชาติเพื่อภาษาเฉพาะที่หลากหลาย  ไม่ใช่จ้างชาวต่างชาติเพราะหาคนในประเทศมาทำงานไม่ได้

                ดังนั้นการเพิ่มจำนวนนักดำน้ำมืออาชีพคนไทย  จะส่งผลดีต่อทั้งประเทศไทย , คนไทย และศูนย์ดำน้ำ  เพราะเมื่อเจ้าของธุรกิจดำน้ำมีทางเลือกที่มากขึ้นจากคนไทย  เขาก็ไม่จำเป็นต้องจ้างนักดำน้ำมืออาชีพชาวต่างชาติจำนวนมาก  เมื่อไม่ต้องจ้างชาวต่างจำนวนมาก , บริษัทก็มีทุนจดทะเบียนเพียงพอต่อการทำใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย


                และหากคิดเรื่องอาเซียนปี 2558 ที่ใกล้เข้ามาอย่างเป็นทางการ ยิ่งน่าคิดว่าถ้าคนไทยยังไม่มีความรู้เรื่องดำน้ำ  เราจะสูญเสียโอกาสทางอาชีพให้กับเพื่อนบ้านเราไปมากน้อยขนาดไหน


สรุป...อุตสาหกรรมดำน้ำประเทศไทย  ส่วนขาดคือ “คนไทย” ที่จะเข้าไปประกอบอาชีพ 
 
ส่วนเกินคือ “ส่วนแบ่งการตลาด” ที่เป็นของชาวต่างชาติมากเกินไป

มาช่วยกันปรับแต่งให้พอดี  กิ่งก้านสาขาจะได้แตกหน่อออกผลให้เจ้าของบ้านได้กินกันอย่างสมดุล