ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

..........................ขาดๆ เกินๆ อุตสาหกรรมดำน้ำไทย.........



หมายเหตุ : บทความนี้ยาว...แต่ดี !!!

 อะไรที่มันขาด  ต้องหาสิ่งมาเติม  

อะไรที่มันเกิน  ต้องตัดทอนออกไป   

“ความพอดี” มันจะเกิดขึ้นได้ต้อง "ปรับแต่ง" กันหน่อย   เหมือนกับอุตสาหกรรมดำน้ำบ้านเราส่วนแบ่งการตลาด 4,000 – 5,000 ล้านบาท เป็นของชาวต่างชาติถึง 95%  มัน “เกินความพอดี” มาก  ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเข้าไป "ปรับแต่ง" ให้มัน “เกิดความพอดี”  

อะไรบ้างที่ขาด ???? 
          
ขาดความรู้  :  เราขาดความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมดำน้ำ !!!

                “ความรู้”  เป็นกุญแจสำคัญเพื่อเปิดโอกาสทางอาชีพได้เสมอ   ความรู้เป็นอะไรก็ได้ที่เราเชี่ยวชาญกับมันจริงๆ    

นายชัยพร  พรหมพันธุ์  เจ้าของสมญานาม “ชาวนาเงินล้าน”  จบชั้น ป.6 แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี   สร้างกำไรปีละหลักล้านจากการทำนา  สามารถลบคำกล่าวที่ว่า "ทำนามีแต่จน" ได้สำเร็จ 

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นที่รู้จักกันดีจากการเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง นักมีนวิทยา นักเขียน  เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ทะเลไทย และเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ตอน ทะเลไทย ของรายการแฟนพันธุ์แท้ ในปี พ.ศ. 2546 

เห็นไหมว่าความรู้ที่มีจนเป็นความเชี่ยวชาญ  “เกิดขึ้นได้ที่ตัวบุคคล”  ไม่เกี่ยวข้องว่าจะจบการศึกษาระดับใด  

แล้วกับเรื่องดำน้ำหล่ะ !!!  นั่นก็หมายความว่า  คนไทยมีความรู้เรื่องการดำน้ำกันน้อยมากจริงๆ  น้อยถึงขนาดปล่อยให้ส่วนแบ่งการตลาดเป็นของชาวต่างชาติได้ถึง 95%   โดยที่เราไม่รู้สึกว่าอยากจะเอากลับคืนมาด้วยซ้ำ  แล้วอะไรหล่ะที่ทำให้เราปล่อยมันให้ดำเนินมาจนถึงวันนี้  

อะไรที่ว่านั้นขอเรียกมันว่า “ตัวปิดกั้นการเรียนรู้”   อันได้แก่   ค่าดำน้ำแพง , ความกลัวต่างๆ ,  กลัวว่าว่ายน้ำไม่แล้วจะดำน้ำไม่ได้ (ยืนยันว่าว่ายน้ำไม่เป็นก็เรียนดำน้ำได้  สอบถามเพิ่มเติมกับครูสอนดำน้ำ)  หรือแม้แต่ทัศนคติที่ว่าการดำน้ำเป็นกิจกรรมของฝรั่ง

อะไรบ้างที่ขาด ????

ขาดการโฟกัส :  ระบบการเรียนไม่โฟกัสอาชีพในอุตสาหกรรมดำน้ำ !!! 

                 “ดำน้ำ” มีการฝึกสอนอยู่แล้วในคณะประมง  เพราะอาชีพดังกล่าวต้องลงไปศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ   แต่อาชีพที่เกี่ยวกับ “อุตสาหกรรมดำน้ำ” โดยตรง  เช่น  นักดำน้ำมืออาชีพ (professional divers) ,  สถาบันสอนดำน้ำ , บริษัทนำเที่ยวเพื่อการดำน้ำ , ธุรกิจเรือเช่าเพื่อการดำน้ำ Live-aboard  เป็นต้นเหล่านี้  มีเรียนในมหาวิทยาลัยบ้างหรือไม่  

คำตอบ คือ มี 

มีในรายวิชาของคณะและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว  เช่น  วิชาการจัดการการท่องเที่ยวทางทะเล  ,  การท่องเที่ยวทางน้ำ  , การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  เป็นต้น  แต่จากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับอาจารย์หลายท่านในหลายมหาวิทยาลัย  เหตุผลที่รายวิชาเหล่านั้นไม่ได้รับการโฟกัสเพราะหาครูสอนไม่ได้  หรือ  เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ใกล้ทะเล  แต่คำกล่าวเหล่านี้คงจะไม่สามารถปล่อยไปได้อีกแล้ว  เพราะการรวมตัวกันของ 10 ประเทศในอาเซียน  ทำให้พวกเราอยู่ในพื้นที่ที่กลายเป็น "แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก" เลยทีเดียว

สมาชิกในประชาคมอาเซียนทั้งหมด 10 ชาติ ยกเว้นลาว  มีชายฝั่งติดทะเลคิดเป็นระยะทางรวมกันประมาณ 110,000 กิโลเมตร ยาวกว่าเส้นรอบวงโลกเกือบ3 เท่า (เส้นรอบวงโลกประมาณ 40,000 กิโลเมตร) ชายฝั่งที่ยาวไกลขนาดนี้ เป็นที่ตั้งของเกาะแก่งจำนวนมหาศาล บางประเทศในเขตอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ถือเป็นประเทศที่เป็นเกาะ (Island Country) เมื่อนับจำนวนเกาะของทั้งภูมิภาครวมกัน คิดเป็นตัวเลขมากกว่า 30,000 เกาะ มากกว่าจำนวนเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย  แค่ประเทศไทยบ้านเราก็รวมกันเกือบ 1,000 เกาะแล้ว  

                แล้วอย่างนี้เราจะไม่โฟกัส “อาชีพในอุตสาหกรรมดำน้ำ” ให้มีเรียนในมหาวิทยาลัยได้อีกหรือ...

อะไรบ้างที่เกิน ????

ชาวต่างชาติมีส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมดำน้ำประเทศไทยมากเกินไป !!!

                รู้หรือไม่ว่า...หากจะต้องจ้างชาวต่างชาติเพื่อมีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย 1 คน  บริษัทจะต้องมีทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท และต้องมีพนักงานคนไทยอยู่ในบริษัทจำนวน 4 คน 

                หมายความว่าถ้าศูนย์ดำน้ำต้องการนักดำน้ำมืออาชีพ 5 คน ทำงานในบริษัทอย่างถูกกฎหมาย จะต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัท 10,000,0000 บาท  และมีพนักงานคนไทยอยู่ในบริษัทจำนวน 20 คน !!!

                จะเห็นได้ว่า "ข้อกำหนด" ไม่ได้เอื้อความสะดวกมากพอให้กับเจ้าของบริษัทที่ต้องการทำถูกกฎหมายสักเท่าไหร่ 

             และคนไทยที่ต้องการเป็น "นักดำน้ำมืออาชีพ" ก็มีจำนวนน้อยมากซะเหลือเกิน  
     
                 ในเมื่อหาคนไทยมาทำงานไม่ได้  ดังนั้นบางบริษัท (ต้องขอย้ำว่าบางบริษัทเท่านั้น) เลยต้องจ้างชาวต่างชาติมาทำงานแทน  แต่ถ้าจะจ้างชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานได้อย่างถูกกฎหมายมัน "จ่าย" แพงซะเหลือเกิน  เขาเลยจ้างชาวต่างชาติในรูปแบบของนักท่องเที่ยวนี่แหละ  ถ้ามีตำรวจมาเจอก็บอกว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเรียนดำน้ำ !!!

                เมื่อทำงานเสร็จเจ้าของบริษัทจ่ายเงินให้กับชาวต่างชาติที่มาำทำงาน   แน่นอนว่าชาวต่างชาติกลุ่มนั้นย่อมนำเงินกลับไปใช้ในประเทศของตน  หรือหากใช้เงินในประเทศไทย  ยกตัวอย่างว่าถ้าพวกเขาบางคนไม่เข้าร้านของคนไทย  แต่เข้าร้านของคนยุโรปแทน เิงินก็ไม่ได้เข้าไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก

                 ถ้ามองในวงจรนี้เงินไทยย่อมมีแต่ไหลออก !!!

                บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อบอกว่า....ชาวต่างชาติออกไปจากประเทศไทยของเรานะ....แต่สิ่งที่อยากบอกคือ "อาชีพในอุตสาหกรรมดำน้ำ"  ต้องเป็นของคนไทยก่อนอันดับแรก  เหมือนเช่นประเทศมาเลเซีย , ฟิลิปปินส์ , อินโดนีเซีย และมัลดีฟ รัฐบาลได้ออกกฏหมายปกป้องให้อาชีพ Dive master เป็นอาชีพของคนในประเทศเท่านั้น  ส่วนอาชีพครูสอนดำน้ำ (Instructor) จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาเฉพาะที่หลากหลาย  เช่น  ภาษาฝรั่งเศส , รัสเซีย , อิตาลี , สวีเดน เป็นต้น จึงสามารถจ้างชาวต่างชาติได้

                ความแตกต่างของการจัดการแบบนี้คือศูนย์ดำน้ำต้องการชาวต่างชาติเพื่อภาษาเฉพาะที่หลากหลาย  ไม่ใช่จ้างชาวต่างชาติเพราะหาคนในประเทศมาทำงานไม่ได้

                ดังนั้นการเพิ่มจำนวนนักดำน้ำมืออาชีพคนไทย  จะส่งผลดีต่อทั้งประเทศไทย , คนไทย และศูนย์ดำน้ำ  เพราะเมื่อเจ้าของธุรกิจดำน้ำมีทางเลือกที่มากขึ้นจากคนไทย  เขาก็ไม่จำเป็นต้องจ้างนักดำน้ำมืออาชีพชาวต่างชาติจำนวนมาก  เมื่อไม่ต้องจ้างชาวต่างจำนวนมาก , บริษัทก็มีทุนจดทะเบียนเพียงพอต่อการทำใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย


                และหากคิดเรื่องอาเซียนปี 2558 ที่ใกล้เข้ามาอย่างเป็นทางการ ยิ่งน่าคิดว่าถ้าคนไทยยังไม่มีความรู้เรื่องดำน้ำ  เราจะสูญเสียโอกาสทางอาชีพให้กับเพื่อนบ้านเราไปมากน้อยขนาดไหน


สรุป...อุตสาหกรรมดำน้ำประเทศไทย  ส่วนขาดคือ “คนไทย” ที่จะเข้าไปประกอบอาชีพ 
 
ส่วนเกินคือ “ส่วนแบ่งการตลาด” ที่เป็นของชาวต่างชาติมากเกินไป

มาช่วยกันปรับแต่งให้พอดี  กิ่งก้านสาขาจะได้แตกหน่อออกผลให้เจ้าของบ้านได้กินกันอย่างสมดุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น